04
ก.ค. 2560
สาระสำคัญของธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
สาระสำคัญของธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
- Share
- เขียนเมื่อ 4 ก.ค. 60
- 165767 Views
สาระสำคัญของธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
การที่ปฐมเทศนานี้ได้รับการขนานนามว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตรดังกล่าว
ก็เนื่องด้วยปฐมเทศนานี้เปรียบประดุจธรรมราชรถ
ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารถนาจะใช้บรรทุกเวไนยสัตว์ทั้งหลายออกจากห้วงวัฏสงสารไปสู่แดนเกษม
คือ พระอมตนิพพาน โดยมีพระพุทธองค์ทรงเป็นสารถี
ส่วนประกอบสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้รถแล่นไปสู่ที่หมายก็คือ ล้อรถ หรือที่เรียกว่า
“จักร” นั่นเอง ดังนั้น ล้อแห่งธรรมราชรถจึงได้ชื่อว่า “จักรธรรม” หรือ “ธรรมจักร”
ตามธรรมดา “ล้อ”
หรือ “จักร” ย่อมประกอบด้วยส่วนสำคัญ ๓ ส่วน คือดุม กำ และ กง ส่วน “จักรธรรม” นี้
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุปมาเปรียบโพธิปักขิยธรรมเป็นดุม
ปฏิจจสมุปบาทธรรมเป็นกำ และอริยสัจ ๔ เป็นกง
สาระสำคัญของธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนี้
คือ การประกาศทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติที่ไม่เอียงไปทางกามสุขัลลิกานุโยค
อันเป็นการประกอบตนแสวงหาความสุขจากกามคุณทั้ง ๕
และไม่เอียงไปทางอัตตกิลมถานุโยคอันเป็นการทรมานตนโดยหาประโยชน์มิได้
ซึ่งข้อปฏิบัติทางสายกลาง คือ มัชฌิมาปฏิปทานี้เป็นข้อปฏิบัติอันกระทำเครื่องเห็น(ดวงตา)และเครื่องรู้(ญาณ)ให้เป็นปกติ
เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้พร้อม หรือ รู้ดี เพื่อความดับตัณหา
เพื่อพ้นไปจากข้าศึก คือ กิเลส เป็นทางของพระอริยเจ้าผู้ละจากสภาวะฆราวาสออกบรรพชาในพระพุทธศาสนาแล้วพึงปฏิบัติตามหนทางสายกลางนี้เท่านั้น
ซึ่งมัชฌิมาปฏิปทานี้ประกอบด้วยองค์ ๘ คือ
๑. สัมมาทิฐิ
๒. สัมมาสังกัปปะ
๓. สัมมาวาจา
๔. สัมมากัมมันตะ
๕. สัมมาอาชีวะ
๖. สัมมาวายามะ
๗. สัมมาสติ
๘. สัมมาสมาธิ
มัชฌิมาปฏิปทานี้เป็นแนวปฏิบัติอันเป็นปัจจัยให้เจ้าชายสิทธัตถะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณตรัสรู้เป็น
พระสัพพัญญูพุทธเจ้า และทำให้ประจักษ์แจ้งในอริยสัจ ๔ อันประกอบด้วย
๑. ทุกขอริยสัจ
คือ ทุกข์อย่างแท้จริง
๒. ทุกขสมุทัยอริยสัจ
คือ เหตุให้เกิดทุกข์อย่างแท้จริง
๓. ทุกขนิโรธอริยสัจ
คือ ความดับทุกข์อย่างแท้จริง
๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์อย่างแท้จริง (อริยมรรค)
ญาณทัสสนะหรือปัญญาอันรู้เห็นในอริยสัจ ๔
นั้น มีรอบ ๓ อาการ ๑๒ คือ
อริยสัจจญาณ |
ทุกขอริยสัจ |
ทุกขสมุทัยอริยสัจ |
ทุกขนิโรธอริยสัจ |
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ |
สัจจญาณ (ญาณหยั่งรู้อริยสัจตามสภาวะ) |
ทรงหยั่งรู้ว่านี้คือ
ทุกข์ |
ทรงหยั่งรู้ว่านี้คือ
เหตุแห่งทุกข์ |
ทรงหยั่งรู้ว่านี้คือ ความดับทุกข์ |
ทรงหยั่งรู้ว่านี้คือ วิธีดับทุกข์ |
กิจจญาณ (ญาณหยั่งรู้กิจที่ต้องทำในอริยสัจ) |
เป็นสิ่งที่ควรรู้ |
เป็นสิ่งที่ควรละ |
เป็นสิ่งที่ควร ทำให้แจ้ง |
เป็นสิ่งควรเจริญ หรือปฏิบัติ |
กตญาณ (ญาณหยั่งรู้กิจที่กระทำแล้วในอริยสัจ) |
ทรงกำหนดรู้แล้วซึ่ง
ทุกข์ |
ทรงละแล้วซึ่ง เหตุแห่งทุกข์ |
ทรงทำให้แจ้งแล้วซึ่ง ความดับทุกข์ |
ทรงเจริญแล้วซึ่ง วิธีดับทุกข์ |
ญาณทัสนะในอริยสัจ
๔ อันมีรอบ ๓ อาการ ๑๒ ของพระองค์นั้นหมดจดดีแล้วพระพุทธองค์จึงทรงกล้ายืนยันว่า
พระองค์ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมทั้งในโลกมนุษย์ เทวโลก มารโลก
พรหมโลก ในหมู่สัตว์ หมู่สมณะ พราหมณ์ เทวดา และมนุษย์
อาสวกิเลสของพระองค์ไม่กลับกำเริบขึ้นอีกแล้ว พระชาตินี้เป็นที่สุด จะมีภพใหม่อีกก็หาไม่
จากหลักฐานอันมีปรากฏอยู่นั้น พบว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์ภิกษุทั้ง ๕ เป็นปฐมแล้ว มิได้ตรัสแสดงสูตรนี้อีกเลยตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษาแห่งการตรัสเทศนาเผยแผ่พระศาสนานั้น ล้วนแต่ทรงแสดงธรรมกถาขยายความแห่งปฐมเทศนาในแต่ละหมวดโดยเอกเทศ
สรุปข่าว
หัวข้อ | สาระสำคัญของธัมมจักกัปปวัตตนสูตร |